งานศึกษาสรีรวิทยาของพืชที่ดำเนินการภายใต้การนำโดย สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์ เป็นเรื่องใด

การเคลื่อนที่ของน้ำและแก๊สในระบบดิน-พืช

ศึกษาพืชทั้งต้นเพื่อความเข้าใจการทำงานของพืชในระบบดิน-พืช-อากาศ งานในปัจจุบันเน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนแก๊สของใบพืช และพลังงานศักย์ของน้ำทั้งระบบ ศึกษาสร้างฐานข้อมูลทางสรีรวิทยาของพืชเศรษฐกิจและให้บริการทางวิชาการแก่ภาคเอกชน ในปัญหาทางสรีรวิทยาที่เป็นข้อจำกัดการผลิตพืช ห้องปฏิบัติการมีเครื่องมือที่ครบสมบูรณ์ในการศึกษาด้านพลังงานของน้ำทั้งในพืชและในดิน ด้านอัตราสังเคราะห์แสงสุทธิ อัตราคายน้ำ ค่านำไหลปากใบ และคลอโรฟิลล์ฟลูออเรสเซนต์ และมีข้อมูลและประสบการณทำงานเรื่องน้ำในระบบดิน-พืชและอัตราแลกเปลี่ยนแก๊สของใบที่อาจจะมากที่สุดในประเทศ

 

งานวิจัยพื้นฐาน

ศึกษาอัตราแลกเปลี่ยนแก๊ส และพลังงานศักย์ของน้ำในใบในรอบวันข้อมูลเส้นตอบสนองต่อแสง จุดชดเชยคาร์บอนไดออกไซด์ และประสิทธิภาพการใช้แสงของพืชเศรษฐกิจ ได้แก่ ส้มเขียวหวาน มะม่วง ปาล์มน้ำมันยูคาลิปตัส ปอสา มะละกอ พริกขี้หนู แตงกวา และกล้วยไม้ ศึกษาผลกระทบของมะม่วงจากน้ำท่วม ผลกระทบการปลูกคะน้าในมุ้งตาข่าย 3 สี และศึกษาปริมาณธาตุอาหารในต้นยางพาราใน 4 ภาคของประเทศ

 

งานบริการวิชาการ

บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ได้ใช้บริการวิชาการในการกำหนดอัตราปุ๋ยประจำปีต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2539 และงานวิชาการเพื่อสนับสนุนแผนการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมัน รับศึกษาหาสาเหตุการตายยอดของต้นยูคาลิปตัสในเขตภาคตะวันตก และการประเมินสภาพต้นกล้าที่แสดงอาการซีดเหลืองของบริษัทสยามฟอเรสทรี รับงานของเกษตรกรในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานของส้มเขียวหวาน การประเมินปริมาณธาตุอาหารของส้มโชกุน งานของชมรมผู้ปลูกสะละจันทบุรี ในการศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางสรีรวิทยาของสะละและมังคุด รวมทั้งให้บริการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือและรับวัดตัวอย่างพืช

 

 

 

ปรัชญาการสร้างนักวิจัย

การฝึกนิสิตบัณฑิตเป็นนักวิจัยในอนาคต มีแนวทางให้นิสิตทำงานวิจัยเรื่องที่เป็นของตนเองเพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ ควบคู่กับทำงานวิจัยส่วนกลางที่เป็นงานบริการทางวิชาการ นิสิตฝึกการทำงานเป็นทีมมีการจัดสรรการรับผิดชอบในด้านต่างๆ โดยแยกตามอุปกรณ์ นิสิตจึงมีโอกาสเข้าใจหลักการและได้ฝึกทักษะ ในการใช้เครื่องมือจนครบทุกชนิด จนพัฒนาเป็นหัวหน้างานที่ตระหนักถึงความสำคัญของการทำงานเป็นกลุ่ม และสามารถแบ่งหน้าที่และนำกลุ่มนักวิจัยออกทำงานได้

ในขณะเดียวกัน งานวิจัยที่ทำจะพยายามครอบคลุมทั้งด้านสรีรวิทยา ชีวเคมี ชีววิทยาโมเลกุลและด้านปรับปรุงพันธุ์ นิสิตจึงมีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ในการมองพืชเป็นองค์รวม รู้จักการให้บริการในการใช้ทรัพยากรในการวิจัยแก่นักวิจัยอื่น มีจิตสำนึกสาธารณะ รู้จักวัฒนธรรมการทำงานร่วมกับนักวิจัยกลุ่มอื่น และมีจุดหมายในการหาวิธีการแก้ไขปัญหาทางการผลิตการเกษตรที่ปฏิบัติได้