รายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่อง ข้อมูลพื้นฐานด้านชีวฟิสิกส์และธาตุอาหารพืชสำหรับการผลิตปาล์มน้ำมัน



ผู้แต่ง : สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์, พรชัย ไพบูลย์ และพรรณี ชื่นนคร
จำนวนหน้า : 43 หน้า
ปีที่พิมพ์ : 2559
ISBN :
Format : PDF file

ปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และเป็นพืชจำเพาะถิ่นที่เติบโตและให้ผลผลิตทะลายเชิงการค้าได้ในพื้นที่ระหว่างเส้นรุ้ง ±10° ครอบคลุมประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และพื้นที่ภาคใต้ของไทยจากนราธิวาสถึงจังหวัดชุมพร ปาล์มน้ำมันเป็นไม้ยืนต้นที่ต้องการความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงสำหรับการเติบโต การเกิดช่อดอก และการเลี้ยงทะลาย และเป็นพืชที่มีความต้องการธาตุอาหาร สภาพอากาศ และมียุทธศาสตร์การใช้น้ำที่แตกต่างจากพืชล้มลุก

ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา คำถามพื้นฐานในการจัดการสวนปาล์มน้ำมันของ บมจ.ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (CPI) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีสวนปาล์มน้ำมัน 5 แห่งรวมพื้นที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น การกำหนดอัตราปุ๋ยประจำปีว่าต้องใส่ปุ๋ยอะไรในปริมาณเท่าไรและอย่างไร ยังลดปริมาณปุ๋ยได้อีกหรือไม่เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย การให้น้ำหยดในสวนที่มีระบบชลประทานต้องให้น้ำต้นปาล์มน้ำมันใช้น้ำกี่ลิตรต่อต้นต่อวัน ควรเหลือทางใบไว้บนต้นกี่ทางใบ แนวทางการตัดต้นออกเมื่อทรงพุ่มชนกัน และเมื่อต้องการล้มต้นปาล์มที่อายุมากเพื่อปลูกต้นใหม่ทดแทน ควรล้มต้นในรูปแบบใดโดยที่บริษัทยังสามารถเก็บผลผลิตได้อยู่ เป็นต้น ในเวลานั้นปาล์มน้ำมันยังเป็นพืชที่ค่อนข้างใหม่และองค์ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันของประเทศไทยมีน้อยมาก CPI จึงลงทุนด้านเครื่องมือ การจัดเก็บข้อมูลสวน และงบประมาณ เพื่อดำเนินงานวิจัยร่วมกับนักวิจัยของห้องปฏิบัติการชีวฟิสิกส์พืช ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ตั้งแต่ปี 2533 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อตอบคำถามพื้นฐานข้างต้น

การศึกษาปาล์มน้ำมันเน้นการเก็บข้อมูลของกระบวนการทางสรีรวิทยาภายใต้ระบบ ดิน-พืช-อากาศ ข้อมูลที่ได้ร่วมกับข้อมูลผลผลิตที่จัดเก็บโดยฝ่ายสวนของ CPI อย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ทำให้นักวิจัยของศูนย์ฯ มีความเข้าใจถึงบทบาทของปัจจัยสภาพแวดล้อมที่กำหนดการเติบโตและให้ผลผลิตของปาล์มน้ำมัน และประสบความสำเร็จในการนำข้อมูลงานวิจัยที่ได้ไปปรับแผนการจัดการสวน ทำให้ผลผลิตทะลายสดของ CPI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงเทียบเท่าผลผลิตของประเทศมาเลเซีย

ข้อมูลงานวิจัยที่ได้รวบรวมไว้ในรายงานฉบับนี้ บางส่วนได้เคยจัดทำเป็นบทความทางวิชาการและเผยแพร่ผลงานทาง website ตีพิมพ์ในวารสาร ตลอดจนนำมาใช้จัดทำคู่มือการปลูกปาล์มน้ำมัน อบรมเกษตรกรในศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน (CAT Learning Center) ของบริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการยกระดับผลผลิตปาล์มน้ำมันสู่เกษตรกรได้ในวงกว้างและเป็นรูปธรรม ข้อมูลของงานวิจัยนี้ยังช่วยหยุดแผนการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสาน 5 แสนไร่ ของรัฐบาลในปี 2548 ซึ่งช่วยลดความเสียหายแก่เกษตรกรขั้นต้นไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท (คิดเฉพาะค่าต้นกล้า 10 ล้านต้น)

 

อ่านเรื่องเต็ม (4.3 MB)

Already downloaded  times (นับจากวันที่ 17 ม.ค. 60)

 

รายงานนี้เป็นผลงานวิจัยร่วมระหว่างศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด