ผลงานเด่น: ตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรในการปรับสภาพโรงเรือนตามค่า VPD

สุนทรี ยิ่งชัชวาลย์1,2 และพรชัย ไพบูลย์1,2
ข่าวสารเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร (AG-BIO Newsletter) ปีที่ 9 ฉบับที่ 2 (เมษายน - มิถุนายน พ.ศ. 2560) หน้า 5-12

 


สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างรุนแรงและรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาจากภัยแล้ง น้ำท่วม การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชทุกปี เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มลงทุนปลูกพืชในโรงเรือนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว คุณชนะศักดิ์และคุณวรางคณา จันทร์เกิด เจ้าของโรงเรือนดอกหน้าวัว “บ้านต้นปัญญา” ต.ไชยราช อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จในการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับสภาพอากาศในโรงเรือนให้ตรงตามความต้องการของพืช ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพดอกหน้าวัวให้สูงขึ้นหลายเท่าตัว

ความสำเร็จของเกษตรกรในการนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เกิดขึ้นจากการที่คุณชนะศักดิ์ได้มีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมการปลูกปาล์มน้ำมัน ณ “ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมัน ซีพีไอ (CPI Learning Center)” อ.ไชยราช จ.ชุมพร ซึ่งบริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค จำกัด ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ได้จัดขึ้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตปาล์มน้ำมันและผลผลิตปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น ทำให้ได้มีโอกาสเห็นสถานีอากาศที่วัดความเข้มแสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์อากาศ และได้รู้จักคำว่า “แรงดึงระเหยน้ำของอากาศ” (air vapor pressure deficit, VPDair, ดัชนีบอกระดับความแห้งของอากาศ คำนวณจากอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ) จึงได้ติดตามค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความ วีดีโอ และหนังสือรายงานผลการวิจัยของห้องปฏิบัติการชีวฟิสิกส์ของพืช ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร ที่เผยแพร่ทาง www.cab.kps.ku.ac.th/plantbiophysics ได้อ่านซ้ำๆ หลายๆรอบ จนเกิดความเข้าใจ เชื่อมั่น และตัดสินใจทำตาม ด้วยการลงทุนติดตั้งชุดสถานีอากาศ รุ่น WS2475 ของบริษัท Spectrum Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโรงเรือนเพื่อใช้กำหนดเวลาเริ่มและหยุดพ่นหมอกในแต่ละวัน โดยไม่ต้องอาศัยความรู้สึกอีกต่อไป คุณชนะศักดิ์และคุณวรางคณาได้ใช้เวลาประมาณ 1 ปี ในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และทดลองปรับระบบพ่นหมอก เพื่อปรับสภาพอากาศตามค่า VPDair โดยได้แยกส่วนจากระบบการให้น้ำและปุ๋ย ร่วมกับการเปิดช่องระบายลมภายในโรงเรือนให้มากขึ้น จนสามารถควบคุมค่า VPDair ให้แกว่งอยู่ในช่วง 1-2 kPa ได้



อ่านเรื่องเต็ม (7.9MB)
Already downloaded  times (นับจากวันที่ 29 ส.ค. 60)



1 ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม 73140
Center for Agricultural Biotechnology, Kasetsart University, Kamphaeng Saen, Nakhon Pathom 73140, Thailand

2 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรุงเทพฯ 10900
Center of Excellence on Agricultural Biotechnology (AG-BIO)/PERDO-CHE, Bangkok 10900, Thailand